สถาบันการอาชีวศึกษา จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 กำหนดว่า “สถานศึกษาอาชีวศึกษาสามารถรวมกันเป็นสถาบันได้ การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาให้กระทำได้โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคำนึงถึงการประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง…”
ต่อมาคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) (ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานคณะกรรมการ) ได้ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การรวมและการแยกสถานศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ตามมาตรา ๑๓ โดยมีหลักการสำคัญ ๕ ประการ คือ
๑. ความเป็นเลิศในการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยมีกระบวนการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศให้ได้ระดับมาตรฐานสากล
๒. การกระจายอำนาจไปสู่ระดับปฏิบัติ เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพใน ทุกระดับ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จแก่ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษา
๓. ตอบสนองความต้องการการผลิตและการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค ระดับเทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
๔. การประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยีชั้นสูง จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพของการจัดการอาชีวศึกษา
๕. การประกันคุณภาพและการกำกับมาตรฐาน ตามมาตรฐานวิชาชีพในระดับสากล
จากประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจึงได้ทำการประเมินสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อเข้าร่วมจัดตั้งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา จนสามารถเสนอ (ร่าง) กฎกระทรวง การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ผ่านคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕ (สมัยนายวรวัจจน์ เอื้อภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) และประกาศกฎกระทรวง ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ (ศ.ดร.สุชาติ ธาราดำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ ๓ จึงได้รับการแต่งตั้งตามกฎกระทรวง การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๕ ประกอบด้วยสถานศึกษา จำนวน ๙ แห่ง ดังนี้ ๑) วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ๒) วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ๓) วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี ๔) วิทยาลัยประมงปัตตานี ๕) วิทยาลัยเทคนิคยะลา ๖) วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา ๗) วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ๘) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา และ ๙) วิทยาลัยเทคนิคสตูล จัดหลักสูตรการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอาชีพตามที่คณะกรรมการอาชีวศึกษา กำหนด คือ
๑. ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
๒. ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
๓. ปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ